เคล็ดลับง่ายๆ ในการเขียนภาษาอังกฤษ (อย่างเป็นทางการ)
ที่ 99% ของคนไทย “ไม่รู้” และ “ไม่เคยมีใครบอก”
เวลาที่เราเขียน “ประโยคบอกเล่า” ภาษาอังกฤษจบลง เราต้องใส่ “จุดจบประโยค” (คนอังกฤษเรียก “full stop” ส่วนคนอเมริกันเรียก “period”)
แล้วระหว่างคำในประโยค เราต้องเคาะ space bar 1 ที
แต่ สิ่งที่ 99% ของคนไทย ไม่รู้และไม่เคยถูกสอนมาเลย ก็คือ ... ระหว่าง “ประโยค” กับ “ประโยค” เราต้องเคาะ space bar 2 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น
It was very hot today. I didn’t want to go outside my office. My friend bought me lunch and we ate in the meeting room.
วันนี้อากาศร้อนมาก ฉันไม่อยากออกไปนอกออฟฟิศเลย เพื่อนฉันเขาซื้อข้าว(เที่ยง)มาฝากและเราก็กินกันในห้องประชุม
นี่แหละครับคือหลักการเขียนอย่างเป็นทางการที่ถูกต้อง เวลาที่เรามองหน้ากระดาษจากไกลๆ เราก็จะเห็นว่า ระหว่างคำกับคำ มันจะแคบหน่อย คือห่างกันแค่ 1 space bar
แต่ระหว่างประโยคกับประโยคเนี่ย มันจะห่างกันกว้างหน่อยคือ 2 space bars ซึ่งมันจะทำให้ผู้อ่าน อ่านง่าย และดูเป็นระเบียบ ทำให้เราแยกแยะออกได้ง่ายว่า ประโยคแต่ละประโยคยาวแค่ไหน เพราะในหนึ่งประโยคมันจะเป็นการแสดงหนึ่งไอเดียของผู้พูด (หนึ่งแนวคิด หรือหนึ่งเรื่องที่ต้องการจะสื่อสาร)
แต่สำหรับการเขียน Line หรือ WhatsApp เราอาจจะเว้นแต่ละประโยคแค่ 1 space bar ไปก็ได้ เพราะเนื่องจากหน้าจอโทรศัพท์มันเล็ก ถ้าเราไปเว้น 2 space bars แบบการเขียนจดหมายหรืออีเมล์อย่างเป็นทางการเนี่ย มันจะทำให้เปลืองที่ และต้องคอยขึ้นบรรทัดใหม่บ่อยๆ
แต่ถ้าเราอยากจะฝึกไว้ให้เคยชิน เราก็สามารถเว้น 2 space bars ระหว่างประโยคกับประโยค บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ (ตอนส่ง Line หรือ WhatsApp) ก็ได้
และห้ามลืมเป็นอันขาดเลยนะครับ คือเวลา “จบประโยคบอกเล่า” เราต้องใส่ “จุด period” ด้วย
เวลาจบประโยคคำถาม เราก็ต้องใส่ “เครื่องหมายคำถาม” ( ? )
หรือจบ “คำอุทาน” เราก็ต้องใส่ “เครื่องหมายตกใจ” ( ! )
แต่ถ้าสิ่งที่เราเขียนเป็นเพียงคำๆเดียว หรือเป็นเพียงแค่กลุ่มคำ (ที่ไม่ใช่ “ประโยค” เต็มรูปแบบ คือมี “ประธาน” + “กริยา” + “กรรม”.) เราถึงจะไม่ต้องใส่เครื่องหมาย period
แต่อย่างเวลาเราจะใส่ว่า “ขอบคุณ” Thank you. เรา “ต้องใส่จุดจบประโยค” ด้วย เพราะมันคือประโยคที่เต็มรูปแบบ มาจากเต็มๆ ว่า I thank you. (ฉันขอขอบคุณคุณนะ) แต่เนื่องจากเขาละคำว่า “ฉัน” (I) ไป มันก็เลยเหลือแค่ Thank you.
ด้วยความปรารถนาดีจาก ... (และ) … เขียนโดย อ. พิบูลย์ แจ้งสว่าง
วันที่: Thu Jan 09 17:37:39 ICT 2025
|
|
|