การรับสายโทรศัพท์ของคนที่โทร.มา แล้วเขาขอสายคุณ (แล้วคุณก็บังเอิญรับสายพอดี)
(สมมติว่าตัวคุณชื่อ Larry) วันหนึ่งมีผู้แทนบริษัทขายประกันฯ โทร.เข้ามาที่บ้านของคุณ แล้วเขาก็พูดว่า May I speak to Mr. Larry Kramer? (ขอสายคุณแลรี่ เครมเมอร์หน่อยค่ะ) แล้วคุณก็ตอบ “นี่ผมแลรี่ พูดอยู่ครับ” ในภาษาอังกฤษที่คนอังกฤษหรืออเมริกัน (เจ้าของภาษาอังกฤษ) ที่เขาจะตอบกับเจ้าหน้าที่บริษัทขายประกันท่านนั้นคือ 1 ใน 4 ตัวเลือกที่เราเลือกมาให้คุณได้ลองตอบดู
a.) This is me.
b.) This is I.
c.) This is him.
d.) This is he.
คุณเชื่อหรือไม่ว่า ในบรรดาผู้ที่เราสำรวจเกิน 100 คน มีเกินกว่า 95% ที่ตอบข้อนี้ผิด แล้วเขาก็จะเลือกคำตอบที่ “ถูก” เป็นตัวเลือกสุดท้ายเสียด้วย (จากตัวเลือกทั้งหมด 4 ข้อ)
คำตอบที่ถูกคือ ข้อ d.) This is he.
บางท่านคงจะอึ้ง เมื่อพบกับคำเฉลยของคำถามนี้ ….. เราไม่ได้เฉลยผิดนะครับ ข้อนี้คนอังกฤษและอเมริกันเขาจะรู้กันดี แล้วเขาก็จะเลือกช้อยส์ข้อ d.) ด้วย เหตุผลที่ว่า เวลามีคนโทรศัพท์เข้ามาแล้วขอสายเรา แล้วเราก็ดันเป็นคนที่รับสายนั้นพอดี การตอบที่ถูกต้อง (ตามหลักของภาษาอังกฤษนะครับ ไม่ใช่ตามหลักการคิดแบบของภาษาไทย) เราก็ต้องตอบว่า “นี่แหละ คือเขาผู้ชายคนนั้น (ที่กำลังพูดอยู่)” ซึ่งถ้าจะเขียนแบบเต็มๆ ก็คือ This is he (who’s speaking). ไม่ใช่ This is him (who’s speaking). เนื่องจากคำว่า ‘him’ เป็น “กรรม” (แปลว่า เป็น “ตัวจบ” ของประโยคนี้) ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ตอบในการสนทนาแบบนี้ เพราะคนที่ชื่อ Larry ยังมีส่วนที่เหลือของประโยคที่ว่า “who’s speaking” หลงเหลืออยู่ในหัว (ที่ไม่ได้พูด) ดังนั้น เขาก็เลยต้องเลือกคำว่า ‘he’ ซึ่งเอาไว้ใช้ในฐานะ “ประธาน” ของประโยคที่เหลือ (ที่ว่า “who’s speaking”) หรือประโยคทางเลือกที่คุณสามารถใช้ในเหตุการณ์นี้ได้อีกก็คือ This is Larry speaking. (นี่แลรี่พูดอยู่ครับ)
ส่วนอีกสองประโยคที่ใช้ว่า This is me. หรือ This is I. นั้น ใช้ไม่ได้เลยสักอัน เพราะในการตอบคำถามแบบนี้ เขาถามถึงบุคคลที่ชื่อ Larry (ซึ่งผู้ถาม เขาคิดถึงคนที่ชื่อ Larry เป็น “บุรุษที่สาม” คือผู้ที่ถูกกล่าวถึง) ดังนั้นคำตอบก็ต้องพูดถึงบุคคลที่สาม คือ ‘he’ หรือ ‘him’ นั่นเอง
แต่ถ้าคำถามในการสนทนาเป็นเรื่องอื่นสิ ผู้ตอบอาจจะตอบ This is him. หรือ This is me. ก็ได้ แล้วแต่เรื่องราว เช่น
ตัวอย่างที่ 1:
ผู้ถาม: (พูดถึงเด็กน้อยที่อยู่ในรูปถ่าย) Who is this boy in the dark room? (แล้วตอนที่ถาม ก็เอานิ้ว ชี้ลงไปที่รูปเด็กคนนั้น) (คำแปล: ใครคือเจ้าเด็กน้อยที่อยู่ในห้องมืดนั้นอ่ะ)
ผู้ตอบ: This is me. หรือ It’s me. (นี่คือฉันเอง)
ตัวอย่างที่ 2:
เหตุการณ์: เรากำลังตามหาหัวขโมยที่แอบเข้าไปขโมยของในออฟฟิศของเราเมื่อคืนนี้ ในตอนสาย เราก็มาเปิดดูวิดีโอกล้องวงจรปิด แล้วก็จำหน้าผู้ชายคนที่เป็นหัวขโมยนั้นได้ จากนั้น ตัวคุณกับเพื่อนของคุณก็พยายามช่วยกันตามหาผู้ชายคนนั้นอย่างจ้าละหวั่น พอตอนบ่ายหลังจากที่คุณทานข้าวเที่ยงเสร็จ คุณก็เดินไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า แล้วคุณก็เห็นผู้ชายหัวขโมยคนนั้นบังเอิญเดินผ่านหน้าคุณพอดีเลย คุณก็เลยเรียกให้เพื่อนของคุณดูผู้ชายคนนั้น แล้วก็พูดว่า: “Hey, it’s him!” (แปล: เฮ้ยนี่ไง ไอ้ผู้ชายคนนั้นไง) แบบนี้คุณใช้ ‘him’ ได้เพราะประโยคของคุณมันจบแค่นั้น ในหัวของคุณไม่ได้ไปคิดถึงประโยคที่เป็นส่วนขยายที่ติดตามมา
จากนี้ไป เวลามีคนโทร. มาหา แล้วขอสายคุณ แล้วคุณก็บังเอิญเป็นคนรับสายพอดี คราวนี้ก็รู้แล้วนะครับว่าควรจะตอบว่าอะไรดี (โชคดีนะครับ)
ด้วยความปรารถนาดีจาก อ. พิบูลย์ แจ้งสว่าง (Home of Naked English – ลาดพร้าว 112 และ รามคำแหง 53)
วันที่: Thu Jan 09 17:20:38 ICT 2025
|
|
|